27 กรกฎาคม 2024
การเงินและการธนาคาร

เงินเฟ้อติดลบ แบงก์ชาติไม่ลดดอกเบี้ย “ลูกหนี้” ยุครัดเข็มขัด ทางออกไม่พอรายจ่าย

นายกฯ โพสต์ถึงการขึ้นดอกเบี้ยของ “แบงก์ชาติ” ทั้งที่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยต้องซื้อสินค้าที่มีราคาสูงขึ้นจากอัตราเงินเฟ้อ ส่งผลกระทบต่อ “ลูกหนี้” และผู้ประกอบการรายย่อย แม้มีการเสนอทางออกเพื่อลดอัตราดอกเบี้ย แต่อาจเป็นระเบิดลูกใหญ่ของ “เศรษฐกิจไทย” ผู้เชี่ยวชาญมองว่าจะเกิดผลกระทบหลายด้าน หากปรับอัตราดอกเบี้ยลดลงในช่วงนี้

วันนี้ (8 ม.ค. 67) “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ได้โพสต์ผ่านช่องทางออนไลน์ส่วนตัวว่า จากการที่แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ย ทั้งๆ ที่เงินเฟ้อติดลบติดต่อกันหลายๆ เดือนนั้น ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจเลย และยังมีผลกระทบต่อประชาชนที่มีรายได้น้อย และ SME อีกด้วย

ผมจึงอยากให้กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เข้าไปดูราคาสินค้าเกษตรบางชนิดให้เหมาะสม เพราะอาจจะต่ำไปก็ได้ และหวังว่าแบงก์ชาติจะช่วยดูแลประชาชนไม่ขึ้นดอกเบี้ยสวนทางกับเงินเฟ้อนะครับ

ทันทีที่นายกฯ ออกมาเบรก ทำให้ประชาชนออกมาแสดงความคิดเห็น มีทั้งที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะบรรดาลูกหนี้ที่ต้องแบกรับอัตราดอกเบี้ยที่สูง บวกกับราคาสินค้าที่แพงขึ้น ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ สอบถามไปยัง ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการโครงการ TDRI Economic Intelligence Service (EIS) เคยดำรงตำแหน่ง นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสที่ธนาคารโลก สำนักงานประเทศไทย วิเคราะห์ว่า หากมองภาพรวมเศรษฐกิจไทยถือว่าเติบโตช้า ประกอบกับก่อนหน้านี้หลายประเทศมีการขึ้นดอกเบี้ยไปก่อนไทย ทำให้ไทยมีการขึ้นดอกเบี้ยที่ช้ากว่าประเทศอื่น

ไทยต่างจากอเมริกาที่มีการขึ้นดอกเบี้ยเร็ว และแรง แต่เราจะค่อยๆ ขึ้นมา ซึ่งปีนี้คาดว่าจีดีพีไทยมีการเติบโตมากกว่าปีที่แล้ว ทำให้แบงก์ชาติมองการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย และการขึ้นดอกเบี้ยที่ช้ากว่าประเทศอื่น ทำให้อัตราเงินเฟ้อของปีนี้ไม่น่าจะต่ำกว่าปีที่ผ่านมา

มีการวิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้มีแนวโน้มฟื้นตัวมากกว่าปีที่แล้ว แต่มีแนวโน้มเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น คาดว่าขณะนี้แบงก์ชาติยังมีการประเมินเพื่อดูว่าควรจะเปลี่ยนดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ เพราะถ้าดูจากสถานการณ์ตอนนี้ไม่ควรลดดอกเบี้ย เพราะเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว และอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น แต่ต้องมีการประเมินอีกครั้งว่าจะมีปัจจัยใดที่ทำให้เงินเฟ้อลดลงอีกหรือไม่

แต่ถ้ามองจากปัจจัยภายนอก ความเสี่ยงต่างๆ มีแนวโน้มทำให้สินค้าแพงขึ้น เนื่องจากพลังงานมีแต่จะแพงมากขึ้นในปีนี้ รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น อาหาร หรือปุ๋ยในการเกษตร ก็ยังไม่มีแนวโน้มที่ราคาจะถูกลง และเป็นผลทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจากเหตุปัจจัยเหล่านี้ทำให้แบงก์ชาติต้องมีการประเมินอีกครั้งว่า สามารถลดดอกเบี้ยได้จริงหรือไม่

อีกปัจจัยสำคัญที่คาดว่าแบงก์ชาติจับตาดูคือ นโยบายเงินดิจิทัล จะเป็นไปได้หรือไม่หากมีการอนุมัติกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ประชาชนมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มว่าราคาสินค้าจะเพิ่มขึ้น ซึ่งต้องยอมรับว่าความเสี่ยงของอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มที่จะขึ้นมากกว่าลดลง

“แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปีนี้มีแนวโน้มโตขึ้น การลดดอกเบี้ยมีความเป็นไปได้ยาก สิ่งนี้ทำให้ลูกหนี้ที่มีการกู้เงินเพื่อมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน หรือซื้อรถ และผู้ประกอบการรายย่อยที่กู้เงินมาลงทุนจะได้รับผลกระทบ แต่ในขณะเดียวกันอัตราเงินฝากก็ขึ้นไปตามกลไกดอกเบี้ย”.

ไม่ควรลดทั้งหมดเหมือนกับการหว่านแห ซึ่งที่ผ่านมาแบงก์ชาติให้แบงก์พาณิชย์ช่วยลูกค้าที่ได้รับผลกระทบในการปรับโครงสร้างหนี้แบบเฉพาะกลุ่มที่มีปัญหา ถือเป็นวิธีที่ดีกว่าการลดดอกเบี้ยทั้งหมด ซึ่งจะส่งผลให้เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นไปอีก

แต่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนคือ การเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน ขณะเดียวกันต้องพยายามมองหาอาชีพ หรือรายได้เสริม ซึ่งรัฐบาลควรมีนโยบายที่ส่งเสริมการเพิ่มรายได้ด้วย จึงจะทำให้เกิดการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนมากขึ้น.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“ธนาคารออมสิน” ลุ้นตั้งเอเอ็มซีบริหารหนี้เสีย

ThaiSmartBiz

กรุงศรี ออโต้ กวาดยอดสินเชื่อใหม่อีเวนต์ยานยนต์ทั่วไทยปี 66 กว่า 4,900 ล้าน สานต่อ Direct-to-Consumer

ThaiSmartBiz

ลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบ 49 วัน 1.31 แสนราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 5,149 ราย

ThaiSmartBiz