ปลัดมหาดไทยเผยยอดลงทะเบียนหนี้นอกระบบ วันที่ 49 ประชาชนลงทะเบียนแล้ว 131,167 ราย มูลหนี้ 8,564 ล้านบาท ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 5,149 ราย ส่วนกรณีไม่ได้รับความร่วมมือ ดำเนินคดีแล้ว 58 คดี ใน 23 จังหวัด
วันที่ 19 มกราคม 2567 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงการลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ เป็นวันที่ 49 (เปิดลงทะเบียนเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566) โดยข้อมูลของสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง เมื่อเวลา 15.00 น. มีมูลหนี้รวม 8,564.376 ล้านบาท ประชาชนลงทะเบียนแล้ว 131,167 ราย เป็นการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ 112,182 ราย และการลงทะเบียน ณ ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ 18,985 ราย รวมจำนวนเจ้าหนี้ 96,309 ราย
งหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนมากที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่
- กรุงเทพมหานคร ยังคงมากที่สุด มีผู้ลงทะเบียน 11,020 ราย เจ้าหนี้ 6,939 ราย มูลหนี้ 766.095 ล้านบาท
- จังหวัดนครศรีธรรมราช มีผู้ลงทะเบียน 5,352 ราย เจ้าหนี้ 4,674 ราย มูลหนี้ 352.376 ล้านบาท
- จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ลงทะเบียน 4,846 ราย เจ้าหนี้ 3,226 ราย มูลหนี้ 367.781 ล้านบาท
- จังหวัดสงขลา มีผู้ลงทะเบียน 4,842 ราย เจ้าหนี้ 3,646 ราย มูลหนี้ 318.254 ล้านบาท
- จังหวัดขอนแก่น มีผู้ลงทะเบียน 3,440 ราย เจ้าหนี้ 2,817 ราย มูลหนี้ 282.087 ล้านบาท
จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนน้อยที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่
- จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีผู้ลงทะเบียน 203 ราย เจ้าหนี้ 200 ราย มูลหนี้ 11.635 ล้านบาท
- จังหวัดระนอง มีผู้ลงทะเบียน 281 ราย เจ้าหนี้ 197 ราย มูลหนี้ 19.231 ล้านบาท
- จังหวัดสมุทรสงคราม มีผู้ลงทะเบียน 346 ราย เจ้าหนี้ 256 ราย มูลหนี้ 10.968 ล้านบาท
- จังหวัดตราด มีผู้ลงทะเบียน 418 ราย เจ้าหนี้ 316 ราย มูลหนี้ 17.750 ล้านบาท
- จังหวัดสิงห์บุรี มีผู้ลงทะเบียน 455 ราย เจ้าหนี้ 322 ราย มูลหนี้ 22.641 ล้านบาท
ขณะที่ข้อมูลการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบทั่วประเทศ พบว่า มีลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยแล้ว 10,901 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 5,149 ราย มูลหนี้ของลูกหนี้ก่อนไกล่เกลี่ย 941.247 ล้านบาท หลังการไกล่เกลี่ย 572.535 ล้านบาท มูลหนี้ลดลง 368.712 ล้านบาท
ส่วนจังหวัดที่สามารถนำลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยได้มากที่สุดนั้นยังคงเป็นจังหวัดนครสวรรค์ โดยมีลูกหนี้ที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย 2,962 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 109 ราย มูลหนี้ของลูกหนี้ก่อนไกล่เกลี่ย 229.873 ล้านบาท หลังการไกล่เกลี่ย 9.159 ล้านบาท
ทำให้มูลหนี้ของพี่น้องประชาชนในจังหวัดนครสวรรค์ลดลง 220.714 ล้านบาท สำหรับกรณีที่ไม่ได้รับความร่วมมือกระทั่งไม่สามารถดำเนินการไกล่เกลี่ยได้ เจ้าหน้าที่จะดำเนินการส่งสำนวนแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจในพื้นที่ มีการดำเนินคดีไปแล้ว 58 คดี ใน 23 จังหวัด
นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการเน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ ใช้กลไกระดับพื้นที่ทำการประชาสัมพันธ์ในเรื่องการลงทะเบียนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนที่เป็นหนี้นอกระบบมาลงทะเบียนขอรับการช่วยเหลือจากทางภาครัฐอย่างครอบคลุมและทั่วถึง รวมทั้งให้ทุกพื้นที่ดำเนินกระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้สินทันทีที่ได้รับการลงทะเบียน เพื่อให้ลูกหนี้ได้รับการช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบได้รวดเร็วที่สุด
พร้อมกันนี้ยังได้เน้นย้ำทุกอำเภอได้ดำเนินการจัดกิจกรรมตลาดนัดแก้หนี้อย่างน้อยเดือนละ 4 ครั้ง หนุนเสริมเพิ่มเติมจากตลาดนัดแก้หนี้ระดับจังหวัดที่มีการจัดเดือนละ 1 ครั้ง โดยร่วมกับภาครัฐ และเอกชน รวมถึงสถาบันการเงิน นำเข้าสู่หนี้ในระบบควบคู่กับการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน
“ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำท้องถิ่นท้องที่ ตลอดจนภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคี ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปให้คำปรึกษาพี่น้องประชาชนอย่างทั่วถึง และเพื่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนอย่างรวดเร็วและเป็นรูปธรรม จึงขอให้ทุกภาคส่วนช่วยกันประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้การรับลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้กับพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเป็นตัวกลางในการประสานงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่ออำนวยความสะดวก และให้การช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่” นายสุทธิพงษ์ กล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยยังคงเปิดรับลงทะเบียนพี่น้องประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาหนี้นอกระบบ ทั้งทางระบบออนไลน์ที่ https://debt.dopa.go.th หรือลงทะเบียนได้ ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานเขตทั่วประเทศ โดยสามารถสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนศูนย์ดำรงธรรม โทร. 1567 ตลอด 24 ชั่วโมง